รมช.อุตฯ เยี่ยมชมบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ หนุนเพิ่มศักยภาพสู่ผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของประเทศจังหวัดสุพรรณบุรี
รมช.อุตฯ เยี่ยมชมบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ หนุนเพิ่มศักยภาพสู่ผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของประเทศจังหวัดสุพรรณบุรี 26 ตุลาคม 2561 - นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทโชคนำชัย (CNC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ โดยมี นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย ให้การต้อนรับพร้อมนำเสนอการดำเนินงานของบริษัท ในการนี้ นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายประกอบ วิวิธจินดา นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมชมงาน ณ บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
กลุ่มบริษัทโชคนําชัย(CNC) ก่อตั้งเมื่อ ปี 2541 ประกอบธุรกิจด้านยานยนต์ ได้แก่ แม่พิมพ์รถยนต์ ซึ่งส่งตรงให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนําทั้งในและต่างประเทศ และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่งให้กับลูกค้าในกลุ่ม First Tear ของค่ายรถยนต์ในประเทศ ปัจจุบันมี 6 บริษัท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี 4 บริษัท อยุธยา 1 บริษัท และชลบุรี 1 บริษัท ที่ผ่่านมาบริษัทได้เข้าร่วมกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านมาตรฐานการผลิต ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ของกระทรวงอุตสาหกรรม
บริษัทมีจุดเด่นในด้านบุคลากรที่มีความรู้ และประสบการณ์ด้านการออกแบบ มีเครื่องจักรขนาดใหญ่และทันสมัย เช่น เครื่อง CNC Machine 5 แกน, เครื่องพับชิ้นงานไร้รอยต่อขนาด 12 เมตร, เครื่อง Uncoil ที่ใช้สำหรับคลายม้วนเหล็กแผ่นได้กว้างที่สุด ขนาด 2.5 เมตร, เครื่องปั๊มขนาด 1,500 ตัน และขนาด 2,700 ตัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม โดยใช้วัสดุและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมาย คือ ยานพาหนะสมัยใหม่ (Modern Transportion) รวมถึงยังแผนการวิจัยและพัฒนาในอนาคต คือ การพัฒนาระบบราง และชิ้นส่วนรถไฟ
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความต้องการรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้เกิดการพัฒนาได้รวดเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในตลาดโลกในด้านต่างๆ คือ 1.ให้ภาครัฐสนับสนุน ดูแลข้อกำหนด หลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยเสียเปรียบผู้ประกอบการต่างประเทศ 2. ผลักดันบัญชีนวัตกรรมสำหรับเอกชน ซึ่งมีการส่งเสริมทางด้านการเงินร่วมกับธนาคารรัฐทั้ง SME Bank และธนาคารกรุงไทย เช่น การ Subsidize เงินกู้ให้มีดอกเบี้ยต่ำ 1% ระยะยาว 7 ปี สำหรับผู้ประกอบการในไทย และนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อของภายในบัญชีนวัตกกรม มาหักภาษี 300% ได้ 3. ให้สนับสนุนเป็นนโยบายการเริ่มต้นผลิตสินค้าประเภทยานยนต์ที่จำนวนน้อย สำหรับคนไทย เช่น รถโดยสาร ซึ่งเป็นพื้นที่ๆสามารถให้ไทยได้พัฒนาอุตสาหกรรมแบบสากล และ 4.ให้มีกำแพงภาษีที่เหมาะสมสำหรับรถนำเข้า เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งเป็นคนไทย 100% สามารถแข่งขันกับตลาดนำเข้าได้
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมให้การสนับสนุนในเชิงนโยบายแก่บริษัทประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย พร้อมทั้งจะพิจารณาส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ของประเทศต่อไป
หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของโรงงาน อาทิ ชมส่วนงาน R&D/ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีในการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้แก่ หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก(EOD ROBOT) จรวดดัดแปลงสภาพอากาศ และระบบควบคุมอาวุธระยะไกล ชมการออกแบบและตัวอย่างต้นแบบรถโดยสารขนาดเล็กตัวถังอลูมิเนียม ชมไลน์ผลิตเรืออลูมิเนียม และเครื่องจักรสนับสนุน และชมโรงงานออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ชั้นสูงเพื่อการส่งออก เป็นต้น ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน / ภาพข่าว
26
ต.ค.
2561